[How to] วิธีการจดลิขสิทธิ์ (การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์) ผ่านช่องทางออนไลน์ [2021]

[แนะนำ] วิธีการจดลิขสิทธิ์ (การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์) ผ่านช่องทางออนไลน์ [2021]

การจดลิขสิทธื์สำคัญอย่างไร???

เชื่อว่ามีเพื่อนๆ ศิลปินหลายคนไม่ว่าจะเป็นคนทำหนัง, คนทำเพลง, ช่างภาพ, นักเขียน, โปรแกรมเมอร์ รวมถึงผู้สร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆ อีกมากมาย ที่หลังจากสร้างผลงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มักจะยังไม่ได้มีการดำเนินการจดลิขสิทธิ์ผลงานเพื่อเป็นการยืนยันความเป็นเจ้าของผลงานให้เป็นเรื่องเป็นราวกัน

ซึ่งถ้าว่ากันตามหลักการแล้ว ผลงานทุกชิ้นที่ถูกสร้างสรรค์เสร็จออกมาเรียบร้อยแล้วนั้น ลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นและเป็นของเจ้าของผลงานทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปยื่นเอกสารขอจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ไม่ว่าเจ้าของผลงานนั้นจะได้ทำการโปรโมทเผยแพร่หรือไม่ก็ตาม (หรือในศัพท์ทางวิชาการจะเรียกว่า การโฆษณาเผยแพร่)

พูดง่ายๆ ก็คือ ลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นทันทีที่ผลงานเสร็จเรียบร้อย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคุณไม่ได้มีการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ให้เป็นเรื่องเป็นราวแล้วเกิดมีปัญหาขึ้นในภายหลัง เช่นมีการก็อปปี้งานของคุณ, มีการนำผลงานของคุณไปใช้ไม่ว่าจะแบบมีรายได้หรือไม่มีรายได้ก็ตามโดยที่คุณยังไม่ได้อนุญาตให้นำไปใช้งาน, มีการแอบอ้างความเป็นเจ้าของในผลงานของคุณ หรือแม้กระทั่งการที่คุณถูกแจ้งว่าก็อปปี้งานของคนอื่นก็ตาม เป็นต้น

ถ้าหากมีการฟ้องร้องทางกฎหมายเกิดขึ้น ความยุ่งยากจะบังเกิดขึ้นทันที เพราะคุณต้องมีหลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของงานอย่างชัดเจนตามที่ศาลต้องการให้คุณแสดงเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ ซึ่งก็ค่อนข้างจะมีความซับซ้อนและวุ่นวายพอสมควร

หรือถ้าหากถึงขั้นเลวร้ายเลยคือมีคนอื่นนำผลงานของคุณไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผลงานและความเป็นเจ้าของก่อนคุณ คราวนี้ล่ะ!!! หลักฐานที่คุณมีอาจจะไม่หนักแน่นพอที่จะทำให้คุณชนะคดีได้

ดังนั้น การที่คุณดำเนินการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผลงานให้เป็นเรื่องเป็นราวเป็นลายลักษณ์กับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเป็นหลักฐานอย่างดีชิ้นหนึ่งที่จะช่วยลดความยุ่งยากในการยืนยันความเป็นเจ้าของผลงานที่แท้จริง หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น

และข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ก็คือ ด้วยในสถานกาณ์ทางด้านการตลาดของยุคสมัยนี้และเทคโนโลยีการเผยแพร่ผลงานที่เปลี่ยนไป เข้าสู่โลกของยุคดิจิตอล จึงส่งผลให้ช่องทางในการแสดงผลงานและสร้างรายได้เปลี่ยนไปสู่ช่องทางออนไลน์กันมากขึ้นแทบจะ 100% แล้ว (ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ผลงานจะถูกเผยแพร่ในลักษณ์ของอุปกรณ์ที่จับต้องได้เช่น Cassette Tape, CD, DVD, Video หรือ Film เป็นต้น)

ซึ่งก็จะมีบริษัทหลายๆ บริษัทที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องของการช่วยนำผลงานของเราไปเผยแพร่และจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในช่องทางต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น เช่น การนำผลงานไปขึ้นระบบการให้บริการแบบสตรีมมิ่ง เป็นต้น

ดังนั้น หากคุณต้องการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับบริษัทเหล่านี้เพื่อให้ช่วยจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และเผยแพร่ผลงานของเรานั้น สิ่งหนึ่งที่บริษัทเหล่านั้นต้องการจากคุณก็คือ หลักฐานการยืนยันความเป็นเจ้าของผลงาน ซึ่งก็คือเอกสารการขอจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับทางกรมทรัพย์ทางปัญญานั่นเอง เพื่อใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของผลงานที่ชัดเจน และยังใช้เพื่อป้องกันการแอบอ้างนำผลงานของคนอื่นมาใช้งานด้วย

แล้วกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองงานสร้างสรรค์ประเภทใดบ้าง???

กฎหมายลิขสิทธิ์ ให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ 9 ประเภท ได้แก่

1. วรรณกรรม (เช่น หนังสือ, จุลสาร, สิ่งพิมพ์, คำปราศรัย, โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น )
2. นาฏกรรม (เช่น ท่ารำ, ท่าเต้น เป็นต้น)
3. ศิลปกรรม (เช่น จตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, ภาพถ่าย, ศิลปะประยุกต์ เป็นต้น)
4. ดนตรีกรรม (เช่น เนื้อร้องและทำนอง, ทำนอง เป็นต้น)
5. โสตทัศนวัสดุ (เช่น VCD, DVD  ที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง เป็นต้น)
6. ภาพยนตร์
7. สิ่งบันทึกเสียง (เช่น CD เป็นต้น)
8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

เมื่อเข้าใจถึงความสำคัญของการจดลิขสิทธิ์แล้ว ก็มาดูวิธีการจดลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์กันเลยฮะ

วิธีการจดลิขสิทธิ์ (การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์) ผ่านช่องทางออนไลน์ [2021]

ขั้นตอนการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ (ในตัวอย่างนี้จะเป็นตัวอย่างสำหรับการจดลิขสิทธิ์เพลงและตัวเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเป็นผู้ดำเนินการเองนะฮะ ไม่ใช่ตัวแทน)

ในการดำเนินการขอจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์นั้น สามารถเข้าทางเว็บไซท์เพื่อเริ่มดำเนินการได้ 2 ทางนะฮะ คือ

1.ในกรณีที่คุณสมัครเป็นสมาชิก DIP CA เรียบร้อยแล้ว
– ให้คุณเข้าทางเว็บไซท์ https://sso.ipthailand.go.th/ (หากยังไม่เคยรู้จักว่า DIP CA คืออะไร สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดและวิธีการสมัครได้ที่ ลิ้งค์นี้) จากนั้นให้กรอก User Name + Password และคลิก เข้าสู่ระบบ

ระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ กาารแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

– ระบบจะพาเข้ามายังหน้า บัญชีผู้ใช้ คลิกเลือกเมนู ไปยัง e-Portal (เมนูที่อยู่ในกรอบซ้าย)

หน้าบัญชีผู้ใช้ กาารแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

– ระบบจะพาไปยังหน้า ระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้คลิกเลือกที่เมนู Copyright (ลิขสิทธิ์)

ระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ กาารแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

– จากนั้นระบบก็จะพาไปยังเว็บไซท์ https://copyright.ipthailand.go.th ซึ่งจะเป็นหน้า กรุณาเลือกประเภทคำขอที่คุณต้องการ (เว็บไซท์เดียวกันกับในข้อ 2 นะฮะ)


2.ในกรณีที่คุณยังไม่เคยสมัครสมาชิก DIP CA
– ให้คุณเข้าเว็บไซท์ https://copyright.ipthailand.go.th โดยตรงนะฮะ ซึ่งเมื่อเข้ามาก็จะเจอหน้า กรุณาเลือกประเภทคำขอที่คุณต้องการ เลยฮะ

กาารแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

3. จากหน้า กรุณาเลือกประเภทคำขอที่คุณต้องการ ให้คลิกเลือก แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ (แบบฟอร์ม ลข.01) ระบบจะพาไปยังหน้า คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ (ลข.01) เพื่อกรอกข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคำขอแจ้งลิขสิทธิ์ และเมื่อกรอกข้อมูลเบื้องต้นในหน้านี้เสร็จ ให้คลิก ขั้นตอนต่อไป

คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ (ลข.01) วิธีการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

4. ระบบจะพามายังหน้า เจ้าของลิขสิทธิ์และตัวแทน เพื่อให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัวแบบละเอียด โดยการคลิกที่รูป ดินสอ ที่อยู่หลังชื่อของเรา

คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์และตัวแทน

5. จะมีหน้าต่างใหม่ขึ้นมา ซึ่งในหน้านี้จะเป็นหน้าที่ให้กรอกข้อมูลส่วนตัวแบบละเอียด โดยให้เลือกที่ บุคคลธรรมดา และ กรอกข้อมูลส่วนตัวของเราทั้งหมดให้ครบ เมื่อเรียบร้อยให้คลิกที่ เก็บข้อมูลเจ้าของลิขสิทธิ์ ระบบก็จะปิดหน้าต่างนี้ไปเพื่อกลับมาที่หน้า เจ้าของลิขสิทธิ์และตัวแทน (ตามข้อ 4) จากนั้นให้คลิกที่ ผลงานลิขสิทธิ์

ข้อมูลเจ้าของลิขสิทธิ์

6. ระบบก็จะพามายังหน้า ผลงานและผู้สร้างสรรค์ ก็ให้เลือกข้อมูลตามที่เป็นจริง โดยในหัวข้อ ผลงานที่ต้องการแจ้ง เป็นผลงานประเภทใด? ซึ่งใน การจดลิขสิทธิ์เพลง ให้เราเลือกเป็น ดนตรีกรรม จากนั้นคลิกที่ รายละเอียดผลงาน

7. ระบบจะพามายังหน้า กรอกข้อมูลผลงานที่ต้องการแจ้งลิขสิทธิ์

กรอกข้อมูลผลงานที่ต้องการแจ้งลิขสิทธิ์ วิธรการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

โดยในหน้านี้ จะมีข้อมูลอยู่ 2 ส่วน คือ ข้อมูลผลงาน กับ ข้อมูลผู้สร้างสรรค์ผลงาน ให้คลิกที่รูป ดินสอ เพื่อใส่ข้อมูลของทั้ง 2 ส่วน

– ในส่วนของ ข้อมูลผลงาน จะต้องมีการอัพโหลดไฟล์ผลงานด้วย แนะนำว่าสิ่งที่ต้องมีอย่างน้อย 2 อย่างคือ ไฟล์เพลง และ ไฟล์เนื้อเพลง ซึ่งถ้ามีคอร์ดหรือโน๊ตหรือแท๊บแนบไปด้วยจะดีมาก พูดง่ายๆ ว่ายิ่งละเอียดเท่าไหร่ยิ่งดี เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จ ให้คลิก เก็บข้อมูลผลงาน ระบบก็จะปิดหน้าต่างนี้ไป

– ในส่วนของ ข้อมูลผู้สร้างสรรค์ผลงาน ถ้าผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นคนเดียวกับเจ้าของลิขสิทธิ์ให้เลือก ใช่ ระบบก็จะดึงข้อมูลเจ้าของลิขสิทธิ์มา (ข้อมูลที่กรอกในข้อ 3 และ 4) แต่ถ้าผู้สร้างสรรค์ผลงานกับเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นคนละคนกัน ก็ให้เลือก ไม่ใช่ และกรอกข้อมูลของผู้สร้างสรรค์ผลงานเข้าไป เมื่อกรอกเสร็จเรียบร้อยให้คลิก เก็บข้อมูลผู้สร้างสรรค์ผลงาน ระบบก็จะปิดหน้าต่างนี้ไป

จากนั้นให้คลิก สถานที่ติดต่อและจัดส่งเอกสาร

8. ระบบจะพามายังหน้าให้กรอกข้อมูล สถานที่ติดต่อและจัดส่งเอกสาร ให้คลิกที่รูป ดินสอ ระบบจะขึ้นหน้าต่างให้กรอกข้อมูล เมื่อกรอกเรียบร้อยให้คลิก เก็บข้อมูลสถานที่ในการติดต่อและจัดส่งเอกสาร ระบบก็จะปิดหน้าต่างนี้

9. จากนั้นในหัวข้อ วิธีการจัดส่งใบรับรอง ซึ่งเป็นการระบุช่องทางที่จะรับ ใบรับรองฉบับจริง ก็ให้ติ๊กเลือก จัดส่งทางไปรษณีย์ เพื่อให้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะส่ง ใบรับรองฉบับจริง มาให้เราทางไปรษณีย์นั่นเอง ส่วนในหัวข้อ อีเมล์ที่ต้องการรับการแจ้งเตือน นั้น เป็นการระบุอีเมล์เพื่อรับข่าวสารและการแจ้งเตือนต่างๆ จากทางกรมทัพย์สินทางปัญญา นะฮะ รวมถึงทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จะส่งไฟล์เอกสาร ใบรับรองฉบับดิจิตอล มาให้เราทางอีเมล์นี้ก่อนที่จะส่งฉบับจริงมาให้เรา ก็ให้เลือกจากข้อมูลที่มีอยู่นะฮะ จากนั้นคลิก ขั้นตอนต่อไป

วิธีการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

10. ระบบจะพามายังหน้า ตรวจสอบหลักฐานและส่งคำขอแจ้งลิขสิทธิ์ ให้คลิก ดาวน์โหลด เพื่อดาวน์โหลด หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จากนั้นก็ปริ้นท์และเซ็นชื่อกำกับทุกช่องที่ระบุไว้ในเอกสาร

เมื่อเซ็นเอกสารเรียบร้อยให้สแกนเอกสารหนังสือรับรองนี้พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนที่เซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง จากนั้นให้กลับมา อัพโหลด ไฟล์ทั้ง 2 ในช่องที่กำหนด

เมื่ออัพโหลดไฟล์เอกสารครบแล้ว ให้คลิก เลือกวิธีการยืนยันตน

วิธีการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

11. ระบบจะพามายังหน้าให้เลือกวิธีการยืนยันตน

หน้า เลือกวิธียืนยันตัวตน

ซึ่งมี 2 วิธี คือ

ถ้าเป็นสมาชิก DIP CA แล้ว ให้คลิกเลือก ยืนยันตนผ่านระบบยืนยันตนแบบรวมศูนย์กลาง แล้วคลิก ขั้นตอนต่อไป ระบบจะขึ้นหน้า Log in ของ DIP CA ก็กรอก User Name และ Password เพื่อทำการเข้าสู่ระบบ ระบบก็จะแสดงข้อมูลตัวตน

ตรวจสอบความถูกต้อง หากถูกต้องให้คลิก ยืนยันตัวตนด้วยข้อมูลเบื้องต้น ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการยื่นจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์นะฮะ

ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิก DIP CA ให้คลิกเลือก ยื่นเรื่องด้วยตัวเอง แล้วคลิก ขั้นตอนต่อไป จากนั้นติ๊กเลือก ข้าพเจ้าอนุญาตให้บุคคลอื่น……… จากนั้นคลิก ส่งคำขอขอแจ้งลิขสิทธิ์  จากนั้นระบบจะขึ้นหน้าดาวน์โหลดเอกสาร ให้เราดาวน์โหลด แบบฟอร์มลข.01 และ ใบนำส่งคำขอ และเซ็นชื่อลงในช่องที่กำกับทุกช่อง จากนั้นจึงนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นด้วยตัวเองหรือส่งทางไปรษณีย์ ไปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด (ถ้าไปด้วยตัวเองให้นำบัตรประชาชนตัวจริงไปด้วย แต่ถ้าหากส่งทางไปรษณีย์ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมเซ็นกำกับสำเนาถูกต้องไปด้วยนะฮะ)

เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการยื่นจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์แล้วนะฮะ

12. จากนั้นก็รอทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการพิจารณาคำขอ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 5-7 วันทำการ ถ้าหากผ่านการพิจารณา สถานะปัจจุบันที่แสดงในเว็บไซท์ คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ จะเปลี่ยนเป็น อนุมัติ (เข้าเช็คสถานะปัจจุบันได้จากลิ้งค์เว็บไซท์ที่ส่งมาให้ทางอีเมล์)

แจ้งสถานะปัจจุบันของคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะส่งหนังสือรับรองมาให้ในรูปแบบของ Digital File ทางอีเมล์ และส่งหนังสือรับรองฉบับตัวจริงมาให้ตามช่องทางที่ระบุไว้ในข้อ 9 ซึ่งโดยปรกติในขั้นตอนการออกเอกสารหนังสือรับรองและส่งมาให้เรานั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

สุดท้ายนี้ก็อยากจะฝากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ศิลปินทุกท่านให้ไปดำเนินการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กันให้ถูกต้องเรียบร้อยนะฮะ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเจ้าของลิขสิทธิ์เองฮะ

ท้ายนี้ ขอฝากเพจไว้ด้วยนะฮะ เข้าไปอ่านต่อที่เขียนถึงเรื่องอื่นๆ กันได้ฮะ