[รีวิว] 4 Kings อาชีวะยุค 90 ศึกสงครามระหว่างอาชีวะ 4 สถาบัน [Movie]

[Review] 4 Kings อาชีวะยุค 90 [2021]

4 Kings อาชีวะยุค 90 ภาพยนตร์เรื่องแรกจากค่ายหนังน้องใหม่อย่าง เนรมิตหนัง ฟิล์ม โดยมี พุฒิพงษ์ นาคทอง รับหน้าที่เป็นทั้งผู้เขียนบทและผู้กำกับ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสั้นของเขาเอง โดยฉบับหนังสั้นนั้นใช้ทุนสร้างประมาณ 50,000 บาท มีความยาวประมาณ 15 นาที เพื่อเป็นไอเดียสำหรับนำไปเสนอให้กับนายทุนตามสตูดิโอต่างๆ แต่ก็ถูกปฏิเสธไป เขาจึงตัดสินใจปล่อยหนังสั้นชุดนี้ลงใน Youtube เพื่อหวังรายได้จากยอดวิวกลับมาแทน

แต่หลังจากที่ปล่อยลง Youtube ไปแล้ว ผลปรากฎว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีเกินคาด จนในที่สุดทางค่าย เนรมิตหนัง ฟิล์ม จึงตัดสินใจมอบเงินลงทุนให้กับ พุฒิพงษ์ นาคทอง เพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ฉบับเต็มสำหรับลงฉายในโรงภาพยนตร์

รับชมได้ทาง Netflix

เนื้อเรื่อง/เรื่องย่อ
จากเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยมาตั้งแต่ช่วงยุค 90 ของนักเรียนอาชีวะจาก 4 สถาบันที่มักจะก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันอยู่เป็นประจำ โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้จะโฟกัสไปที่เรื่องราวของตัวละครฝั่ง โรงเรียนอินทรอาชีวะศึกษา อย่าง ดา (รับบทโดย เป้ อารักษ์), บิลลี่ (รับบทโดย จ๋าย ไททศมิตร) และ รูแปง (รับบทโดย ภูมิ รังษีธนานนท์) เป็นหลัก กับเรื่องราวความบาดหมางที่มีต่อศัตรูคู่อริอย่าง มด (รับบทโดย โจ๊ก อัครินทร์), โอ๋ (รับบทโดย ณัฏฐ์ กิจจริต) และ เอ็กซ์ (รับบทโดย ชนาธิป พิสุทธิ์เสรีวงศ์) จาก โรงเรียนเทคโนโลยีประชาชล (ที่เปลี่ยนชื่อมาจากชื่อโรงเรียนที่มีอยู่จริงคือ โรงเรียนเทคโนโลยีประชาชื่น)

โดยยังมีอีก 2 โรงเรียนที่ถือเป็นศัตรูหลักอีก 2 โรงเรียนอย่าง โรงเรียนกนกอาชีวะศึกษา ที่นำโดย บ่าง (รับบทโดย แหลม 25Hours) และ โรงเรียนเทคนิคบุรณพนธ์ ที่นำโดย เอก (รับบทโดย ทู สิราษฎร์)

อีกทั้งยังมี ยาท (รับบทโดย บิ๊ก D Gerrard) สมาชิกแกงค์เด็กบ้านที่คอยดักเล่นงานเด็กอาชีวะทุกสถาบันแบบไม่เลือกหน้า

ไปร่วมสัมผัสกับเรื่องราวของมิตรภาพและความบาดหมางของสงครามระหว่างแกงค์อาชีวะที่คนในกรุงเทพยุค 90 รู้จักกันดี

ความคิดเห็นหลังดูจบ
ตลอดทั้งเรื่องจะมีการตั้งคำถามกับประเด็นสงครามระหว่างสถาบันนี้ว่า “จะตีกันไปทำไม” แทรกอยู่เป็นระยะๆ แต่จนจบเรื่องแล้วก็ไม่ได้ให้คำตอบของคำถามเหล่านี้ ซึ่งจุดนี้นี่เองที่ส่วนตัวมองว่าเป็นความฉลาดของผู้สร้างที่เลือกจะไม่ตอบคำถามนี้ออกมาตรงๆ เพราะถ้ามองในมุมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ก็ยังไม่มีใครที่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนเลยว่า เด็กเหล่านี้จะตีกันไปทำไม (ถ้าตอบได้ ปัญหานี้คงถูกแก้ไขที่ต้นตอไปได้เรียบร้อยแล้วล่ะ คงไม่ยืดยาวเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้)

เผลอๆ ลองไปถามไอเด็กพวกนี้เอง มันยังตอบเหตุผลที่แท้จริงไม่ได้เลย ส่วนใหญ่จะได้คำตอบประมาณว่า รุ่นพี่สั่งสอนต่อๆ กันมา มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี (จริงเหรอ???) และสุดท้ายก็เหมือนที่ 1 ในตัวละครตั้งคำถามขึ้นมาว่า “ถ้ากูไม่อยู่บู มึงไม่อยู่ชล และไอนี่ไม่อยู่อิน เราจะตีกันหรือเปล่า

ซึ่งถ้าดูแบบไม่คิดอะไรมาก หนังก็สามารถให้ความบันเทิงได้ในระดับหนึ่งนะฮะ ดูสนุกอยู่ แม้จะมีหลายๆ จุดที่รู้สึกไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่นักก็ตาม

สำหรับจุดที่ไม่ชอบเลย ก็ขอลิสออกเป็นข้อๆ ละกัน จะได้เห็นภาพชัดเจน

  1. การที่หนังใช้ชื่อว่า 4 Kings พร้อมกับการโหมโปรโมทว่าจะเป็นหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเหตุการณ์การตีกันระหว่าง 4 สถาบันอาชีวะที่คนที่อยู่ในกรุงเทพยุค 90 ต่างรู้จักกันดีนั้น เอาเข้าจริงๆ กลับกลายเป็นหนังที่เล่าเรื่องราวของบุคคลเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยหนังโฟกัสไปที่เรื่องราวของตัวละครหลักแค่ไม่กี่ตัวละครอย่าง บิลลี่ อิน กับ ดา อิน เท่านั้น ส่วนอีก 3 สถาบันที่เหลือกลายเป็นแค่ตัวประกอบที่ทำให้เรื่องมันดำเนินไปเท่านั้น โดยเฉพาะกับตัวละคร บ่าง กนก และ เอก BU ที่โผล่ออกมาแค่ไม่กี่ฉาก หรือแม้กระทั่งตัวละคร รูแปง อิน เองที่เป็นเพื่อนสนิทกับ บิลลี่ และ ดา ที่ตอนแรกเหมือนจะมีความสำคัญกับเรื่อง แต่สุดท้ายก็ไม่ต่างจากตัวประกอบอื่นๆ (ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ เพราะหลายๆ ตัวละครดูมีเสน่ห์และน่านำเสนอให้ลึกกว่านี้ได้)
  2. จากการโหมโปรโมทถึงฉากการตีกันในงานคอนเสิร์ต Short Charge Shock ตอน เหล็กคำราม ที่ทุกคนที่เป็นคอเพลงร็อคต่างก็รู้กันดีว่าเป็น คอนเสิร์ตที่เล่นไม่จบงาน เพราะไอพวกนี้มันตีกันเละเทะจนทางวงต้องประกาศยุติการแสดง และในฉากนี้ยังได้สมาชิกวง หิน เหล็ก ไฟ ตัวจริงมาร่วมแสดงในฉากคอนเสิร์ตนี้ด้วย

    แต่เอาเข้าจริงๆ ฉากนี้กลับไม่มีอะไรที่พีคหรืออิมแพคอะไรเลย ทั้งๆ ที่ฉากนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่นำพาไปสู่จุดไคลแมกซ์ของเรื่องแท้ๆ แถมการเซตติ้งต่างๆ ยังทำออกมาไม่เนียนเลย ดูออกเลยว่าเป็นฉากที่ถ่ายในสตูดิโอเล็กๆ ไม่ได้มีความยิ่งใหญ่อลังการและทรงพลังอย่างที่โปรโมทมา (ก็ถือว่าน่าผิดหวังพอสมควร) อีกทั้งการแสดงของพี่ๆ หิน เหล็ก ไฟ เองก็ดูเนือยๆ ยังไงไม่รู้ (สงสัยจะหลายเทค)
  3. ประเด็นการท้องในเวลาเรียน ที่ถือว่าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหญ่เลยนะ แต่หนังกลับเลือกที่จะไม่ไปโฟกัสในประเด็นนั้น เหมือนใส่มาแค่เพื่อจะดึงอารมณ์ดราม่าในช่วงสุดท้ายของเรื่องเท่านั้น และด้วยความที่ตลอดทั้งเรื่องหนังไม่ได้เล่นกับประเด็นนี้มากนักนั่นเอง จึงทำให้ในซีนที่ควรจะดราม่าหนักๆ มันจึงไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น
  4. การแคสนักแสดงที่แก่เกินวัยของตัวละคร นี่คือจุดที่คนดูหลายๆ คนรับไม่ได้เลย คือเรารู้อ่ะว่านักแสดงเหล่านี้มันอายุเกินไปมากแล้ว แล้วคนดูจะเอาอะไรมาอิน ดูไปก็รู้สึกว่า ทำไมพวกมึงแก่กันจังวะ เพิ่งจะปวช. กันเองไม่ใช่เหรอ

    น่าเสียดายที่แม้ว่านักแสดงหลายๆ คนจะทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีก็ตาม (โดยเฉพาะมือใหม่ในวงการหนังอย่าง จ๋าย ไททศมิตร กับ บิ๊ก ดีเจอร์ราด เลยฮะ ที่ต้องขอชื่นชมว่าฝีมือการแสดงถือว่าผ่านเลยฮะ)
  5. ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของหนังคือ การตัดต่อ คือตัดต่อได้ห้วนมาก กระโดดไปมา มีหลายๆ ซีนที่กำลังเข้มข้นอารมณ์กำลังพุ่งขึ้น แล้วก็จู่ๆ ตัดฉับกลับมาสู่ซีนปรกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือ “อิหยังวะ แล้วที่สูบิ้วท์ๆ มามันคืออิหยัง
  6. สุดท้าย เหมือนผู้สร้างไม่มีทิศทางหนังของตัวเองที่ชัดเจนพอว่าอยากจะนำเสนออะไรกันแน่ คือเหมือนจะอยากรวบเอาทั้งหมดอ่ะ แต่มันกลายเป็นไม่สุดอ่ะฮะ ทั้งการเป็นหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวการตีกันของวัยรุ่น แต่มันก็ไม่เดือดพอ หรือ จะเป็นเรื่องที่ให้ข้อคิดและตีแผ่ประเด็นทางสังคม ก็ทำได้แค่ผิวๆ หรือ จะเป็นหนังย้อนความทรงจำในช่วงวัยเด็กอย่างหนังเรื่อง แฟนฉัน ยังขาดรายละเอียดอีกเยอะ หรือ จะเป็นหนังที่มีตัวละครเท่ห์ๆ กับฉากแอ็คชั่นมันส์ ก็ยังเท่ห์ไม่พอ แถมฉากตีกันก็ยังไม่สะใจ หรือ จะเป็นหนังดราม่าจัดๆ ก็ยังไปไม่ถึง

    สุดท้ายมันจึงออกมาอย่างที่เห็นคือ ไม่ได้สร้างความประทับใจในด้านไหนให้กับคนดูเลย ดูจบแล้วก็จบไป (เผลอๆ บางคนที่เพิ่งมาดูใน Netflix อาจจะทนดูไม่จบซะด้วยซ้ำ)
4 Kings อาชีวะยุค 90 [2021]

สรุป >> ให้ไป 6 เต็ม 10 ละกันฮะ เพราะโดยส่วนตัวถึงจะมีจุดที่ไม่ชอบอย่างที่เล่าไปข้างต้นอยู่หลายจุด แต่ในระหว่างดู เราก็ได้ความบันเทิงจากมันอยู่เหมือนกันนะ ไม่ได้ถึงกับต้องฝืนทนดูหรือน่าเบื่อจนดูไม่จบ

สุดท้ายนี้ ก็ขอฝากเพจไว้ด้วยเช่นเคย คลิกกันเข้าไปอ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมกันได้เลยฮะ