[รีวิว] Money Heist: Korea (ทรชนคนปล้นโลก: เกาหลีเดือด) [Series]

[Review] Money Heist: Korea – Joint Economic Area (ทรชนคนปล้นโลก: เกาหลีเดือด) [2022]

Money Heist: Korea – Joint Economic Area (ทรชนคนปล้นโลก: เกาหลีเดือด, 종이의 집: 공동경제구역) ทีวีซีรีส์สัญชาติเกาหลีใต้แนว Action Drama Crime Thriller ของ Netflix ที่ดัดแปลงมาจากซีรีส์ดังของสเปนเรื่อง Money Heist

เขียนบทโดย Ryu Yong-jae, Kim Hwan-chae และ Choe Sung-jun
กำกับโดย Kim Hong-sun

นำแสดงโดย
Yoo Ji-tae (จากภาพยนตร์เรื่อง Oldboy) รับบทเป็น Professor / Park Sun-ho
Park Hae-soo (จากซีรีส์ Squid Game) รับบทเป็น Berlin / Song Jung-ho
Jeon Jong-seo (จากภาพยนตร์เรื่อง The Call) รับบทเป็น Tokyo / Lee Hong-dan
Lee Hyun-woo (จากซีรีส์เรื่อง Queen Seondeok) รับบทเป็น Rio / Han Joseph
Lee Won-jong (จากภาพยนตร์เรื่อง 200 Pounds Beauty และซีรีส์เรื่อง Iljimae) รับบทเป็น Moscow / Oh Man-sik
Kim Ji-hoon (จากซีรีส์เรื่อง Babel และ Flower of Evil) รับบทเป็น Denver / Oh Taek-su
Jang Yoon-ju (จากซีรีส์เรื่อง Perfume และภาพยนตร์เรื่อง Three Sisters) รับบทเป็น Nairobi / Sim Young-mun
Kim Ji-hun รับบทเป็น Helsinki / Ko Myung-tae
Lee Kyu-ho (จากภาพยนตร์เรื่อง #ALIVE และซีรีส์เรื่อง Island) รับบทเป็น Oslo / Lee Sang-yeon
Kim Yun-jin (จากภาพยนตร์เรื่อง Shiri และซีรีส์เรื่อง Lost) รับบทเป็น Seon Woo-jin
Kim Sung-oh (จากซีรีส์เรื่อง L.U.C.A.: The Beginning) รับบทเป็น Captain Cha Moo-hyuk
Park Myung-hoon (จากภาพยนตร์เรื่อง Parasite และซีรีส์เรื่อง Crash Landing on You) รับบทเป็น Cho Young-min
Lee Joo-bin (จากซีรีส์เรื่อง Doctor Lawyer) รับบทเป็น Yoon Mi-seon
Lee Si-woo (จากซีรีส์เรื่อง Sisyphus: The Myth) รับบทเป็น Anne Kim

รับมได้ทาง Netflix (มีทั้งหมด 12 ตอน)

เนื้อเรื่อง/เรื่องย่อ
เรื่องราวเริ่มต้นในช่วงปี 2025 ช่วงที่ประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้ตกลงเจรจาสงบศึกและร่วมมือการพัฒนาประเทศโดยการจัดตั้งสหภาพเขตเศรษฐกิจร่วม (JEA) ขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับทดลองร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อการรวมชาติอย่างสันติ และมีการปรับเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินเดียวกัน มีองค์กรและบริษัทมากมายจากทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มาขยายตลาดในที่แห่งนี้

นั่นจึงทำให้ประชาชาชนชาวเกาหลีเหนือ ต่างก็ไขว่คว้าหาใบอนุญาตเพื่อเข้าไปทำงานในเขตเศรษฐกิจร่วมดังกล่าว ต่างคนต่างก็เดินทางเข้ามาด้วยความหวังที่ว่าจะมีโอกาสได้พลิกฟื้นฐานะทางสังคมของตัวเองให้ดีขึ้น

อีฮงดัง เด็กสาวจากประเทศเกาหลีเหนือก็เช่นกัน หลังจากที่ปลดประจำการจากกองทัพเกาหลีเหนือในกรุงเปียงยาง เธอก็เดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงโซล ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจร่วมนี้ทันที โดยคาดหวังที่จะมีชีวิตในแบบ Korean Dream

แต่ในความเป็นจริงมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเธอถูกนายหน้าผู้อพยพหลอก ไม่มีทั้งบ้านและงานตามที่ได้ตกลงกันไว้ แถมนายหน้าผู้อพยพยังปิดบริษัทหนีไปแล้วด้วย เมื่อสิ้นหนทางเธอจึงจำเป็นต้องยอมไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟและเด็กดริ้งค์เพื่อแลกกับเงินมาประทังชีวิต จนกระทั่งต้องกลายเป็นผู้ร้ายหลบหนีในคดีปล้นฆ่าไปในที่สุด

1 ปีผ่านไปในระหว่างที่ความสิ้นหวังถึงขีดสุด ก็ได้มีผู้ชายคนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า ศาสตราจารย์ (Professor) ได้เข้ามาชักชวนเธอให้เข้าร่วมกับแผนปฏิบัติการปล้นครั้งใหญ่ที่มีมูลค่าถึงสี่ล้านล้านวอนเพื่อที่จะเขย่าโลกและเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้หลุดจากระบบทุนนิยมที่กดขี่ประชาชนให้จมอยู่ภายใต้นักการเมือง, นักธุรกิจ และนายทุน ที่คอยเอารัดเอาเปรียบประชาชน

ซึ่งในทีมปล้นครั้งนี้ นอกจาก อีฮงดัง (ที่เมื่อเข้าร่วมทีมปล้นแล้วถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น โตเกียว) แล้ว ศาสตราจารย์ ยังได้รวบรวมสมาชิกที่มีความสามารถในด้านต่างๆ มาเข้าร่วมทีมด้วยอีก 7 คน ได้แก่

เบอร์ลิน – นักโทษจากคุกแกซอน ประเทศเกาหลีเหนือ
ริโอ – แฮคเกอร์หนุ่มฝีมือฉกาจ
เดนเวอร์ – นักมวยจากสังเวียนใต้ดิน
มอสโกว์ – พ่อของ เดนเวอร์ อดีตคนงานเหมืองที่มีความเชี่ยวชาญด้านการขุดเจาะ
ไนโรบี – สาวนักต้มตุ๋นที่มีความเชี่ยวชาญในการปลอมแปลงทุกชนิด
ออสโล และ เฮลซิงกิ – 2 คู่หูแกงค์นักเลงจากเมืองหยันเปียง ประเทศจีน

และเมื่อทุกอย่างพร้อม ปฏิบัติการปล้นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีก็ได้เริ่มต้นขึ้น

ความรู้สึกหลังดูจบ
เชื่อว่าหลายๆ คนที่เคยดูเวอร์ชั่นสเปน (เวอร์ชั่นต้นฉบับ) มาก่อนน่าจะไม่ค่อยชอบเวอร์ชั่นเกาหลีนี้เท่าไหร่นัก ซึ่งโดยส่วนตัวตอนแรกก็รู้สึกแบบนี้เช่นกัน อาจจะด้วยความที่เราเพิ่งผ่านตาและประทับใจกับเวอร์ชั่นสเปนมาก่อน ความรู้สึกในการรับชมเวอร์ชั่นเกาหลีนี้จึงอาจจะไม่เข้มข้นเท่ากับตอนดูเวอร์ชั่นสเปนครั้งแรก

แต่หลังจากที่ดูจบ Part แรก (จำนวน 6 ตอน) แล้วต้องรอ Part 2 ต่อนั้น มันทำให้เรามีเวลาไปเสพเรื่องอื่นและเริ่มลืมๆ กับเวอร์ชั่นสเปนไปพอสมควร และพอ Part 2 มา (จำนวน 6 ตอน) ก็ตัดสินใจกลับไปดูใหมตั้งแต่ต้นจนครบ 12 ตอน

รอบนี้ความรู้สึกในระหว่างการดูก็เปลี่ยนไปจากตอนแรกเลยฮะ โดยรวมคือโคตรชอบเลย สนุกมาก เดือดจริง แม้ว่าพลอตเรื่องหลักจะหยิบยกมาจากเวอร์ชั่นสเปนก็ตาม แต่ในรายละเอียดต่างๆ, ปูมหลังและนิสัยของตัวละครแต่ละตัวจะแตกต่างกับเวอร์ชั่นสเปนไปเยอะเลยฮะ

ขอยกตัวอย่าง 2 ตัวละครที่เห็นได้ชัดๆ เลยอย่าง เบอร์ลิน และ โตเกียว

เบอร์ลิน
เวอร์ชั่นสเปน – ในซีซั่นแรกอาจจะยังมองภาพไม่ชัด แต่ถ้าตามดูครบทั้ง 4 ซีซั่น จะเห็นได้ว่า ผู้สร้างได้วางคาแรคเตอร์ของ เบอร์ลิน ให้เป็นเหมือนศิลปินผู้นิยมชมชอบในศิลปะชั้นสูง ซึ่งการวางแผนการต่างๆ เขามองว่ามันเหมือนการสร้างศิลปะชิ้นหนึ่ง

ดังนั้น ในการปล้นแต่ละครั้ง เบอร์ลิน จะไม่ได้มองที่คุณค่าของสินทรัพย์ที่ตัวเองจะทำการปล้นเป็นหลัก แต่จะไปให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์แบบของแผนการปล้นมากกว่า

เวอร์ชั่นเกาหลี – ใน EP 2 ผู้สร้างได้เผยให้เห็นถึงปูมหลังตั้งแต่ช่วงวัยเด็กของตัวละคร เบอร์ลิน นี้ว่า เป็นพลเมืองของประเทศเกาหลีเหนือ ที่พยายามแอบข้ามแม่น้ำเพื่อหลบหนีข้ามชายแดนมายังประเทศเกาหลีใต้ แต่ไม่สำเร็จทำให้แม่ของเขาถูกยิงตาย ส่วนตัวของเขาเองนั้นได้ถูกจับเข้าคุกแกซอนของเกาหลีเหนือและถูกกระทำทารุณมาตั้งแต่เด็ก

เขาต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดให้ได้จากทั้งฝั่งผู้คุมสุดโหดและเพื่อนร่วมคุกคนอื่นๆ ที่พร้อมจะมาลงไม้ลงมือเพื่อระบายอารมณ์กับเขา แต่ในที่สุด เขาก็เติบโตขึ้นมาจนเป็นผู้นำของเหล่าคนคุก

เบอร์ลิน เวอร์ชั่นเกาหลี จึงเป็นตัวละครที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความโกรธและมักจะตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการใช้ความรุนแรง

จึงไม่ต้องแปลกใจ หากดูแล้วรู้สึกจะว่า ทำไม เบอร์ลิน เวอร์ชั่นสเปนถึงดูมีความสุขุมลุ่มลึกมากกว่าเวอร์ชั่นเกาหลีที่ดูเหมือนนักเลงข้างถนน

โตเกียว
เวอร์ชั่นสเปน – จะเป็นแค่โจรปล้นธนาคารธรรมดา เป็นคนที่ทำอะไรด้วยอารมณ์ล้วนๆ จะทำอะไรก็ไม่ค่อยจะมีการวางแผนการอะไรทั้งนั้น

เวอร์ชั่นเกาหลี – เป็นเด็กสาวที่ผ่านการฝึกทหารมาก่อน จึงไม่แปลกที่จะมีความเชี่ยวชาญทางด้านการต่อสู้การใช้อาวุธ เป็นคนที่ใช้สมองมากกว่าอารมณ์ และมีอุดมการณ์อย่างแรงกล้าสำหรับแผนการปล้นครั้งนี้ นั่นจึงทำให้ตัวละครตัวนี้ในเวอร์ชั่นเกาหลี ค่อนข้างจะฉายแววความเป็นผู้นำออกมาอยู่เสมอ

และนั่นก็คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของคาแรคเตอร์ตัวละครที่มีการตีความที่แตกต่างกันของทั้ง 2 เวอร์ชั่น

ในส่วนของเนื้อเรื่องนั้น ใน Part แรก ค่อนข้างที่จะเดินพลอตตามเวอร์ชั่นสเปนอยู่พอสมควร แต่พอเข้าสู่ Part 2 กลับมีการปรับเปลี่ยนแนวทางเดินเรื่องในหลายๆ จุดที่แตกต่างจากเวอร์ชั่นสเปนเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนที่ดีและนำเข้าสู่แนวทางของตัวเองได้อย่างชัดเจนขึ้น

และสิ่งที่ชอบอย่างหนึ่งของเวอร์ชั่นเกาหลี คือจะมีการเผยให้เห็นอดีตและปูมหลังของตัวละครต่างๆ ให้เราได้รู้ นั่นจึงทำให้เราได้เข้าใจถึงเหตุผลในการตัดสินใจกระทำการต่างๆ ของทุกตัวละครอย่างชัดเจน

อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบเลยคือการกล้าวิพากษ์แวดวงการเมืองและนักธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา การเขียนเนื้อหาที่เสียดสีสังคมได้อย่างเข้มข้นและแสบทรวงเลยทีเดียว อย่างเช่นการเลือกนำเสนอให้เห็นว่า ในระบบทุนนิยมนั้น คนที่มีเงินและอำนาจเท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่อยู่บนห่วงโซ่สูงสุดของวงจรชีวิต คนรวยมีแต่จะรวยขึ้น ส่วนคนจนกลับยิ่งจนลงและถูกเอารัดเอาเปรียบทุกทาง เปรียบเสมือนประชาชนชาวเกาหลีเหนือที่เดินทางมุ่งหน้าสู่เขตเศรษฐกิขร่วม โดยมีความหวังว่าจะทำงานหาเงินเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น แต่แล้วกลับถูกมองและถูกเลือกปฏิบัติไม่ต่างกับบุคคลชั่น 2 ของประเทศที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก

สำหรับจุดที่ไม่ค่อยชอบนักคือการเกลี่ยบทให้ตัวละครแต่ละตัวไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ มีตัวละครหลายๆ ตัวที่แทบจะหายไปจากหน้าจอเลย ทั้งๆ ที่ทุกตัวละครมีจุดมีประเด็นให้เล่นให้นำเสนอทุกตัว แถมบางตัวก็มีความสำคัญกับเรื่องราวที่เดินไป แต่กลับไม่ให้แอร์ไทม์เค้าบ้างเลย

Money Heist: Korea – Joint Economic Area (ทรชนคนปล้นโลก: เกาหลีเดือด) [2022]

สรุป >> ให้ไป 8 เต็ม 10 นะฮะ โดยส่วนตัวชอบการตีความใหม่ในเวอร์ชั่นนี้ ที่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากเวอร์ชั่นต้นฉบับ ฉากแอ็คชั่นก็เดือดและตื่นเต้นมาก

ท้ายนี้ ก็ขอฝากเพจไว้ด้วยเช่นเคย คลิกกันเข้าไปอ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมกันได้เลยฮะ